RallyBikeKorat

คลิกเพื่อสมัครปั่นจักรยาน


สอบถามรายละเอียดได้ที่ LINE Rally Bike Korat

ชื่อโครงการ  โครงการส่งเสริมเทศกาลปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพวิถีชุมชนและประชาสัมพันธ์  เส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา

หน่วยงานรับผิดชอบ  สถาบันเขตส่งเสริมนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจสุขภาพเพื่อการส่งออก คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชัย หล่อวงศ์ตระกูล

ผู้ประสานงานโครงการ  ๑) ผศ.ดร.เฉลิมชัย หล่อวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันฯ โทรศัพท์๐๙๕-๓๖๙๕๕๑๔

                             ๒) ดร.วีรวัตร​ นามานุศาสตร์ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ โทรศัพท์ ๐๙๖-๒๖๙๕๙๑๕

                             ๓) ผศ.ดร.พนิดา หล่อวงศ์ตระกูล กรรมการและเลขานุการ โทรศัพท์๐๖๔-๑๖๒๙๙๕๑

สถานที่ติดต่อ  สถาบันเขตส่งเสริมนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจสุขภาพเพื่อการส่งออก คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

หลักการและเหตุผล

จากรายงานการสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2562 โดย Airbnb พบว่า ร้อยละ 84 ต้องการท่องเที่ยวแบบใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่นและใช้จ่ายไปกับร้านอาหารในชุมชน ซื้อสินค้าชุมชนมากที่สุดกว่า1.7 พันล้านบาท และจากข้อมูลของ Expedia ที่ทำการเจาะลึกข้อมูลการท่องเที่ยวในปี 2561 พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเป็นแหล่งชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในเมืองรอง และมีอัตราการท่องเที่ยวลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2560 สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวตามรอยวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมโดยเป็นการท่องเที่ยวที่คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมที่เข้ามาสนับสนุนอาชีพหลักหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนโดยที่ไม่เป็นการทำลายวิถีชีวิตเดิมหรือทรัพยากรของชุมชนที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังสนับสนุนให้มี การนำสินค้า OTOP ทางการเกษตรของชุมชนเข้ามารวมกับการท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่าย สินค้า OTOP ของชุมชน และจากกิจกรรมบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้รายได้กระจายลงสู่ ชุมชน และลูกหลานของคนในชุมชนไม่ต้องออกไปหารายได้นอกชุมชน

โดยทางสถาบันเขตส่งเสริมนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจสุขภาพเพื่อการส่งออกได้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ชุมชนเพื่อด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน งานฝีมือ สินค้าเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี  ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน เป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมฐานข้อมูลเพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม วิถีชุมชน อัตลักษณ์ของชุมชน ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นการจัดการพื้นที่และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านคุณภาพการบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและคนต่างพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ทางสถาบันเขตส่งเสริมนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจสุขภาพเพื่อการส่งออก คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน สินค้าและบริหารของแต่ละชุมชน กระตุ้นเม็ดเงินจากการขายสินค้าและบริการของประชาชน และมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และสินค้าทางการเกษตรของชุมชน ภายในจังหวัดนครราชสีมา และเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยให้ระบบหัวใจ ปอดมีสมรรถภาพที่ดีขึ้น การจัดทำโครงการปั่นเพื่อสุขภาพ ประจำปี 2566 ครั้งที่1 ในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของครอบครัว เยาวชน ประชาชน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานราชการที่อยู่ในตำบลทุกเพศทุกวัย สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างแรงจูงใจในการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ประโยชน์ของการเดินทางด้วยจักรยานที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ส่งผลดีต่อชุมชนและสร้างแบบอย่างเพื่อจุดประกายให้ทุกคนหันมาปั่นจักรยาน

๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ

๒.๑ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ส่งเสริมสินค้าและบริการของชุมชนในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน

๒.๒ เพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการของชุมชนในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน

๓. เป้าหมายของโครงการ

          ๓.๑ เป้าหมายเชิงคุณภาพ

                    กระตุ้นเศรษฐกิจ และเผยแพร่ความรู้ วิถีชีวิตในชุมชน

          ๓.๒ เป้าหมายเชิงปริมาณ

                    มีประชาชน และผู้ร่วมกิจกรรมมากกกว่า ๑๕๐ คน

๔. วันเวลา สถานที่

          วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖  ณ พื้นที่ อบต. ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐ น. ถึง ๑๐.๓๐ น.

๕. เส้นทาง

          จุดที่ 1 สวนลุงไกร

จุดที่ 2 แสงตะวันฟาร์ม

จุดที่ 3 ฟ้าวารีโฮมสเตย์ ริมอ่างเก็บน้ำ

จุดที่ 4 ป่าชุมชนบ้านคลองไทร

๖. ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ

๖.๑ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

๖.๒ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา

๖.๓ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา

๖.๔ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา

๖.๕ สมาคมกีฬาจังหวัดนครราชสีมา

๖.๖ สมาคมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว

๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          ๗.๑  กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน

          ๗.๒ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน

          ๗.๓ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร